loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
แลนด์ลอร์ดหมื่นไร่ “บูรณุปกรณ์” ปั้นทุนเชียงใหม่ผงาดอสังหาริมทรัพย์ไทย
: 17 เมษายน 2566 | :

 

10 เมษายน 2566 ถ้าไม่มีอะไรเป็นคลื่นแทรก จะเป็นฤกษ์ดีในการยื่นไฟลิ่ง “อรสิริน โฮลดิ้ง” เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ด้วยทุนจดทะเบียน 1,073.5 ล้านบาท จึงวางหมากเข้าไปโลดแล่นในกระดานหุ้น SET และในอนาคตหากทำสำเร็จก็จะเป็นทุนท้องถิ่นเชียงใหม่รายแรก… หรือเผลอ ๆ อาจหมายถึงเป็นทุนท้องถิ่นรายแรกของภาคเหนือด้วยซ้ำไปที่สามารถเข้า SET ได้

“การเมืองผมพอแล้ว การเมืองเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ทำดีเสมอตัว แต่ส่วนใหญ่จะขาดทุน (หัวเราะ) วันนี้ผมขอโฟกัสทำธุรกิจดีกว่า เพราะผมเป็นนักธุรกิจตั้งแต่เกิด…” คำให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ของ “พ่อเลี้ยงโต๊ะ-บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

สะสมที่ดินตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว

หากนับเนื่องจากวันเกิด 15 ตุลาคม 2499 ณ วันนี้ พ่อเลี้ยงบุญเลิศมีอายุ 67 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวบนสมรภูมิการเมืองและธุรกิจอย่างโชกโชน

ปี 2566 ประกาศตัวชัดเจนว่าขอหันกลับมาโฟกัสการทำธุรกิจเป็นหลัก การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น (listed company) จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน แต่เป็นการวางกลยุทธ์ครั้งสำคัญ เพื่อยกระดับองค์กรธุรกิจอรสิริน โฮลดิ้ง สู่ความเป็นมืออาชีพมาตรฐานสากล เพื่อการันตีถึงการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“อรสิรินเราตั้งใจจะสร้างหมู่บ้านจัดสรรเพื่อตอบโจทย์ว่าคนเชียงใหม่ก็ทำได้ดีไม่แพ้บริษัทใหญ่ ๆ ที่มาจากกรุงเทพฯ”

รากฐานธุรกิจดูเหมือนจะมี 3 ขา ประกอบด้วยโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปญี่ปุ่น-โรงแรม-อสังหาริมทรัพย์

“เราเป็นนักธุรกิจหลายอย่าง เริ่มโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกตั้งแต่หนุ่ม ๆ ทำโรงแรม ทำบ้านจัดสรรอรสิรินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมโชคดี คุณพ่อผม (ใช้ บูรณุปกรณ์) บอกว่า ถ้ามีเงินให้ซื้อที่ดินไว้ เริ่มซื้อตั้งแต่ 40 ปีก่อน มีแลนด์แบงก์แปลงสวย ๆ รอบจังหวัดเชียงใหม่ ไปขายที่ดินให้มิตรจากกรุงเทพฯ ร่วม 10 แปลง ก็เกิดแนวคิดทำไมขายให้เขา ทำเองก็พอจะทำได้ 20 ปีก่อนจึงเริ่มทำโครงการขึ้นมา”

คำถามต่อยอดจากการสะสมแลนด์แบงก์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เบ็ดเสร็จวันนี้มีที่ดินมากกว่าหรือน้อยกว่าหมื่นไร่ คำตอบคือ “…มากกว่า” แต่ถือกรรมสิทธิ์ในนามส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นแลนด์แบงก์ในพอร์ตของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง 700 กว่าไร่ที่รอการพัฒนา

“ถนนทุกเส้นต่อไปนี้จะมีโครงการอรสิรินปรากฏอยู่ ตอนนี้ก็ครอบคลุมถนนเกือบทุกเส้นในเชียงใหม่อยู่แล้ว”

17 ปีพอร์ตสะสม 1.5 หมื่นล้าน

พลิกปูมอรสิรินกันอีกสักครั้ง ข้อมูลที่กระจัดกระจายถูกจัดระเบียบและนำเสนอใหม่เรียงตามปีแห่งการลงทุนรวม 17 ปี ดังนี้

จุดเริ่มต้นปี 2549 พัฒนาโครงการอรสิริน 1 มูลค่าโครงการ 252 ล้านบาท, ปี 2556 คอนโดมิเนียมแบรนด์ดิ แอสตร้า 2,878 ล้านบาท, ปี 2561 คอนโดฯ อะไรส์ มหิดล 978 ล้านบาท, ปี 2562 บีลิฟ วงแหวน-สันกำแพง, เดอะเน็กซ์ 7 ยอด มูลค่ารวม 1,335 ล้านบาท

ไฮไลต์อยู่ที่ยุคโควิด ปี 2563 เปิดโปรเจ็กต์ไฮไลต์แบรนด์ดิ แอสตร้า สกาย ริเวอร์ ช้างคลาน 2,300 ล้านบาท, ปี 2564 บีลิฟ สันทราย-แม่โจ้, ฮาบิแทท วงแหวน-สันกำแพง รวม 2,954 ล้านบาท, ปี 2565 บีลิฟ รวมโชค, ดิ เอสเคป มหิดล รวม 909 ล้านบาท

คำนวณเป็นโครงการสะสม ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 18 โครงการ มูลค่าสะสม 15,505 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 11 โครงการ มูลค่ารวม 8,348 ล้านบาท กับคอนโดฯ 7 โครงการ มูลค่ารวม 7,157 ล้านบาท

“แบรนด์อรสิรินชื่อลูกสาวผมเอง ผมรักมาก แปลว่าผู้หญิงที่มีปัญญาและมีความสวยงาม เราใช้ใจสร้าง ความตั้งใจจะทำอรสิรินให้เป็นอรสิรินที่มีความสมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้าน ในทุก ๆ เรื่องของการอยู่อาศัยที่มีแต่ความสุข”

ความฝันที่ใกล้เป็นจริงในปี 2566 นี้ คือการนำอรสิริน โฮลดิ้ง เข้ากระดานหุ้น SET คำถามต่อยอดคือ อยากเห็นอาณาจักรอรสิริน โฮลดิ้ง ไปได้ไกลแค่ไหน

“ผมฝันไว้ไกลเลย ไม่ใช่แค่อยู่ในเชียงใหม่ แต่ฝันไปหลาย ๆ จังหวัด จ้องที่ดินหลาย ๆ แปลง แต่ตอนนี้เราทำในเชียงใหม่ให้ดีก่อน เราจะเป็นทุนภูธรที่มีความแข็งแกร่งที่สุด ต้องทำตัวให้แข็งแรงที่สุดก่อน จึงจะไปแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ที่กรุงเทพฯได้”

เข้าตลาดหุ้นต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ

ผู้บริหารเจน 3 “ปรีดิกร บูรณุปกรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อรสิริน โฮลดิ้ง นำเสนอบิสซิเนสโมเดลแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้า 3 คลาส ประกอบด้วย “อีโคโนมีคลาส” นำเสนอภายใต้แบรนด์อรสิรินวิลล์-บิสสิเนสเซ็นเตอร์-เดอะเน็กซ์คอนโดมิเนียม “เมนคลาส” ลูกค้าหลักกลุ่มราคา 3-5 ล้าน ผ่านแบรนด์อรสิริน-บีลิฟ-เออร์เบินนีส-อะไรส์

และ “ไฮคลาส” ขยับฐานราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาท แบรนด์ฮาบิแทท ขึ้นไปจนถึงเซ็กเมนต์ลักเซอรี่วางแบรนด์คู่ขนานทั้งคอนโดฯ คือ ดิ แอสตร้า กับบ้านแนวราบ คือ เอสเคป

โดยมีโครงการอยู่ระหว่างขาย (active projects) และกำลังจะปิดการขาย ได้แก่ อรสิริน 11 แม่โจ้ มียอดขายแล้ว 98%, อรสิริน ดอนจั่น ขายแล้ว 97%, บิสสิเนส เซ็นเตอร์ รวมโชค 97%, คอนโดฯ เดอะเน็กซ์ 80%, คอนโดฯ แอสตร้า ยอดขาย
เกิน 60%

ไฮไลต์โปรเจ็กต์ “แอสตร้า สกาย ริเวอร์” ทำเลช้างคลาน ถือเป็น rare item ก็ว่าได้ สร้างบนแลนด์แบงก์ผืนงามขนาด 4 ไร่ 2 งานเศษ เปิดขายพร้อมกับโควิดในปี 2563 ใช้เวลาขายเพียง 3 เดือน โควตาลูกค้าต่างชาติ 49% เต็มอย่างรวดเร็วจนคนขายก็งง ๆ อยู่

The Astra Sky River

จนกระทั่งสร้างเสร็จปลายไตรมาส 4/65 ยิ่งสร้างเสร็จยิ่งเห็นของ ยอดโอนลูกค้าต่างชาติยิ่งทะลักเกินเป้าหมายที่วางไว้ ผลักดันให้อรสิรินทำผลประกอบการยอดรับรู้รายได้ All Time High ในปี 2565 ในรอบ 17 ปี อยู่ที่ 1,534 ล้านบาท

“แนวทางการออกแบบสกายริเวอร์ที่ยาวที่สุดในเอเชีย ต้นไอเดียคือผมเอง ไปเห็นที่มาริน่า เบย์แซนด์ ความยาว 145 เมตร ทำไมเชียงใหม่เราไม่มีบ้างล่ะ วิวเราก็สวย ศักยภาพเราก็มี ผมไปเช็กมาหมดแล้ว เรายาวกว่า 1 เมตร (หัวเราะ) เป็นโปรเจ็กต์ที่ลูกค้าชอบมาก”

แผนเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2566 ต้อนรับปีแห่งการยื่นไฟลิ่งด้วยยอดลงทุนพัฒนา 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 3,225 ล้านบาท

กลยุทธ์แข่งขันใจถึง+นวัตกรรม

ขณะที่ผู้บริหารเจน 3 อีกรายและเป็นหลานพ่อเลี้ยงบุญเลิศ “อรรคเดช อุดมศิริธำรง” ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด อรสิริน โฮลดิ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า โฟกัส 3 ปี (2563-2565) ในยุคโควิดที่ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจอ่อนแรง แต่กลายเป็นว่าธุรกิจอสังหาฯ กลายเป็นเสาหลักที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรอรสิริน

โดยสรุปผลดำเนินงาน ดังนี้ ปี 2563 รายได้คอนโดฯ 491 ล้านบาท บ้านแนวราบ 361 ล้านบาท ที่ดินเปล่า 13 ล้านบาท รวม 865 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้คอนโดฯ 324 ล้านบาท บ้านแนวราบ 353 ล้านบาท รวม 677 ล้านบาท ถือเป็นปีไม่ค่อยดีของเราเพราะไม่ค่อยเปิดโครงการใหม่ เป็นปีที่ดีเวลอปเปอร์ทุกคนไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

และปี 2565 รายได้คอนโดฯพุ่งทะยาน 1,104 ล้านบาท บ้านแนวราบ 430 ล้านบาท รวม 1,534 ล้านบาท

“อรสิรินทำได้ดีมากในส่วนบ้านแนวราบ เราโตมาตลอด จะเห็นว่าคอนโดฯอาจหวือหวา แต่บ้านแนวราบเติบโตสม่ำเสมอ เราพยายามคีปจุดนี้ไว้ เพราะนักลงทุนหลายคนกังวลเรื่องความไม่สม่ำเสมอ เรามีการวางแผนพัฒนาโครงการให้สม่ำเสมอ”

ถอดรหัสบิ๊กดาต้าธุรกิจที่อยู่อาศัยในภาคเหนือ ท็อป 5 จังหวัดเรียงลำดับจากมากที่สุด คือ “เชียงใหม่-พิษณุโลก-เชียงราย-นครสวรรค์-ลำพูน” พบว่า บ้านแนวราบสัดส่วน 60% กระจุกตัวที่เชียงใหม่ ส่วนคอนโดฯเบียดส่วนแบ่งตลาดสัดส่วนถึง 90% นำมาสู่ข้อสรุปแบบฟันธงว่า ตลาดเชียงใหม่ยังเป็นพระเอกของการพัฒนาอสังหาฯในภาคเหนือ

กลยุทธ์การแข่งขันถูกเติมเต็มด้วยคำว่า “ใจถึง+นวัตกรรม”

คำว่าใจถึง อรสิรินท้าพิสูจน์คุณภาพงานก่อสร้าง ตะเข็บกระเบื้องในห้องน้ำต้องเนี้ยบ เพราะทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกญี่ปุ่นจนคุ้นเคยและชื่นชอบคุณภาพคับแก้วสไตล์ญี่ปุ่น อีกตัวอย่างให้ดูถนนโครงการ มีความกว้างไม่อึดอัด เพราะลูกค้าซื้อไปแล้วต้องมีความสุขในการอยู่อาศัย

ยกอีกสักตัวอย่าง น่าจะเป็นเรื่องความใจถึงในการลงทุนซื้อต้นไม้ “ซิลเวอร์โอ๊ค” ถิ่นกำเนิดประเทศออสเตรเลีย สรรพคุณเป็นต้นไม้ที่ผลิตออกซิเจนมากที่สุดในโลก ราคาสูงกว่าต้นไม้ตระกูลดี แต่มีการนำมาลงปลูกให้กับโครงการเพื่อต่อต้านฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นต้น

คำว่านวัตกรรม ปัญหาสุขภาพจากฝุ่นจิ๋วที่เคยเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญเพียงปีละ 2 สัปดาห์ พัฒนาเป็นปีละ 2 เดือนไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การแถมเครื่องฟอกอากาศอย่างเดียวไม่พออีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องสามารถหมุนเวียนออกซิเจนเข้ามาในบ้านได้ทุก 1 ชั่วโมงอีกด้วย พัฒนาร่วมกับบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกราย เป็นระบบ positive pressure

เป็นนวัตกรรมที่ทำให้อรสิรินสร้างความแตกต่างได้อย่างโดดเด่น มูลค่าลงทุนหลักหมื่น แต่ความรู้สึกลูกบ้านที่ได้รับฟีลลิ่งหลักแสน win-win ทั้งบริษัทและลูกค้า

บรรทัดสุดท้าย “พ่อเลี้ยงบุญเลิศ” เปิดวิสัยทัศน์ว่า จาก 40 ปีที่แล้วที่เริ่มสะสมแลนด์แบงก์ วันนี้อัพเกรดบทบาทเป็นดีเวลอปเปอร์ 100%

และไม่ว่าโลกทุนนิยมจะพัฒนาไปแอดวานซ์แค่ไหน แต่สไตล์การทำธุรกิจยึดมั่นปรัชญา สโลว์ บัต ชัวร์ เพราะอรสิริน โฮลดิ้ง ไม่ได้ต้องการเติบโตแบบหวือหวา แต่ต้องการเติบโตแบบออร์แกนิก ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

 

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.prachachat.net
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ