loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
ชู "คริปโตฯ" เปิดรับนักลงทุนซื้ออสังหาฯ เจาะนักศึกษาใช้เหรียญเช่าคอนโดฯ วอนรัฐชัดเจน กม. "ทำกำไร"
: 16 มิถุนายน 2564 | :

ปัจจุบัน กระแสเกี่ยวกับ "เงินสกุลดิจิทัล" หรือ "Cryptocurrency" ที่ซื้อและขายแลกเปลี่ยนผ่านอินเทอร์เน็ต บริหารจัดการโดยระบบ "บล็อกเชน" ถูกพัฒนาจนได้รับการยอมรับเหมือนเงินสด ตามเทรนด์แห่งสังคมไร้เงินสด และเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากหลายภาคธุรกิจได้เปิดโอกาสและทดลองตลาดในการใช้ "เหรียญดิจิทัล" สำหรับการซื้อสินค้าและบริการ โดยได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อรองรับพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในกลุ่มที่มี "สกุลเงินดิจิทัล" เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า

ซึ่งความเคลื่อนไหวในการนำเงินสกุลดิจิทัลมาใช้นั้นเริ่มขยายออกไปในหลากหลายธุรกิจ อย่างค่าย เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR กระโจนเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดคริปโตฯ โดยเปิดขายตั๋วหนังจ่ายด้วย Bitcoin ผ่านบริการของ ZIPMAX นำร่องสาขารัชโยธิน, บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือเจมาร์ท  ริเริ่มที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้กับ 7 บริษัทในเครือเจมาร์ท โดยเปิดตัวเหรียญดิจิทัลโทเคน ที่ชื่อ JFIN Coin โดยในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ทางเจมาร์ทจะเปิดตัวโครงการที่จะสร้างการตระหนักการรู้ ดิจิทัลโทเคนให้ลูกค้าของเจมาร์ทผ่านแคมเปญ “ลด แลก แจก” คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาทต่อเดือน ในเซกเตอร์ "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ที่มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการเชื่อม "เงินสกุลดิจิทัล" กับสินค้าประเภทที่อยู่อาศัย และรองรับลูกค้าปล่อยเช่าโครงการคอนโดมิเนียม

 

อนันดาฯ จับมือ บิทคับ ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านคริปโตฯ


 

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ANAN" ที่ยังคงคอนเซปต์การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตอบโจทย์คนเมือง คงความผู้นำตลาดคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้า ได้สร้างความคึกคักในวงการอสังหาริมทรัพย์ "อีกระลอก" ไม่ทิ้งดีกรีในด้านไฟแนนซ์

โดยนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ กล่าวว่า เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตในทุกมิติ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับทาง "บิทคับ" พัฒนาช่องทางการชำระเงิน โดยเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระเงินสำหรับการซื้อขายบ้านและคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้าของอนันดาฯ โดยลูกค้าสามารถใช้เหรียญคริปโตฯ ชำระแทนเงินสดกับทุกโครงการของอนันดาฯ ผ่าน Wallet ของบิทคับ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าในแง่ของการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นการมอบสิทธิพิเศษให้กลุ่มลูกค้าของอนันดาฯ และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจในการแลกเปลี่ยนผ่านสกุลเงินคริปโตฯ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เป็นการปรับตัวสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ในปัจจุบัน มูลค่าตลาดคริปโตฯ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในปีนี้ มูลค่าของเหรียญ BITCOIN : BTC ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่เกิน 2,000,000 บาทต่อ 1 เหรียญ BTC แสดงให้เห็นว่า วิถีการลงทุนในทรัพย์สินของคนยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนไป

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง นับจากที่บิตคอยน์ทำราคาสูงสุดแตะ 1 ล้านบาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และทำให้มีผู้สนใจเข้ามาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม bitkub.com ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จำนวน 1 ล้านรายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดกว่า 10,000 ล้านบาทต่อวัน

 

"พฤกษา" ตั้งทีมศึกษาตลาด "คริปโตฯ" แต่รอ ศก.ฟื้น-ตอนนี้ "ห่วงคนกู้ซื้อบ้าน"

 

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงเทรนด์ของการนำเงินสกุลดิจิทัลมาใช้กับการซื้อขายในโครงการของบริษัทพฤกษาฯ ว่า ถ้าเป็นช่วงนี้จริงๆ แล้ว Pain Point ในกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่ของพฤกษา เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ (ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) ที่เป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ หมายความว่า ถ้าลูกค้าที่ใช้เงินสกุลดิจิทัล ก็เปรียบเหมือนมีเงินอยู่แล้ว คล้ายๆ ไปซื้อหุ้น แล้วมีความต้องการจะเปลี่ยนเป็นบ้าน เปลี่ยนเป็นอะไรแบบนี้ แต่ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ในฐานลูกค้าใหญ่ของเรา (พฤกษา) ในกลุ่มราคา 2-5 ล้านบาท อาจจะยังไม่เหมาะ เนื่องจากเป็นตลาดของกลุ่มคนที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่ง Pain Point ใหญ่ของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ยังไม่มีเงินที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้

"เราก็มอง มีการตั้งทีมศึกษาอยู่ แต่เรามองว่า ตลาดในกลุ่มคริปโตฯ เป็นการลงทุนที่มีความผันผวนสูง ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเหลือ สวอปจัดพอร์ตตัวเอง หากในช่วงเศรษฐกิจมา เศรษฐกิจดี มียิลด์ อาจจะเหมาะกับบางเซกเมนต์ เช่น ราคา 3-7 ล้านบาท แต่คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง คิดว่าปี 2565 น่าจะเหมาะ แต่ประเด็นใหญ่ตอนนี้ของภาคอสังหาฯ คือ เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า อสังหาฯ คือ เรื่องของการจับต้องได้ จริงๆ การลงทุนในภาคอสังหาฯ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นอะไรที่จับได้ ชัวร์ๆ" 

 

ตระกูลดัง "1.6 ดีเวลลอปเม้นท์" ไม่ตกเทรนด์ ผนึก Zipmex เปิดพอร์ตคริปโตฯ ซื้อโครงการหรู

(จากซ้ายไปขวา) คุณชวิน อรรถกระวีสุนทร กรรมการบริหาร 1.6 ดีเวลลอปเม้นท์, คุณธัญทิพ เจียรวนนท์ ประธานบริหาร ของ 1.6 ดีเวลลอปเม้นท์, ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex Thailand, คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดแห่ง Zipmex Asia

นายชวิน อรรถกระวีสุนทร กรรมการบริหาร บริษัท 1.6 ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ตน ได้ร่วมมือกับนักพัฒนาอสังหาฯ ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลดัง น.ส.ธัญทิพ เจียรวนนท์ ก่อตั้งบริษัทฯ ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2560 ก่อนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทระดับโลกอย่าง บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เพื่อพัฒนาโครงการ เดอะ สแตรนด์ ทองหล่อ โครงการแรกแบบมิกซ์ยูส ระดับอัลตราลักชัวรี โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมืองที่ต้องการความหรูหรา สะดวกสบายใจกลางเมืองปากซอยทองหล่อ

ล่าสุด บริษัท 1.6 ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมมือกับทาง Zipmex แพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของเอเชีย เปิดให้นักลงทุนซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยเหรียญคริปโตฯ ได้แล้ว โดยผู้ที่สนใจจะซื้ออสังหาฯ สามารถเลือกชำระเงินด้วย BTC, ETH, USDT และ ZMT ซึ่งการชำระด้วยคริปโตฯ นี้เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ ภายใต้ ZipSpend หนึ่งในโปรแกรมใหม่ล่าสุดของ Zipmex ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสูงสุดให้ลูกค้า

"เดิมผม (ชวิน) เคยดูแลทุกภาคส่วนของฝ่ายธุรกิจในด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ที่ JP Morgan มาแล้ว เลยทำให้รู้ว่า เราจำเป็นต้องจับกระแสสกุลเงินดิจิทัลให้มากกว่าเดิม การร่วมเป็นพันธมิตรกับ Zipmex เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในตอนนี้เรากำลังวางแผนที่จะเปิดตัว NFT บนแพลตฟอร์มใหม่อยู่ รวมถึง Real Estate-Backed ICO และสำหรับโครงการในอนาคต ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายขยายกว้างออกไปที่นักลงทุนทั่วเอเชียแปซิฟิก"

น.ส.พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดแห่ง Zipmex Asia (ลูกสาวอดีตปลัดกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นมากกว่าความสามารถในการซื้อคอนโดฯ หรือ รถยนต์ด้วยคริปโตฯ แต่จะช่วยให้ผู้คนสามารถซื้อสินทรัพย์เหล่านั้นได้จริง

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex Thailand กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันลูกค้าสามารถจ่ายค่ามัดจำอสังหาฯ ด้วยสกุลเงินคริปโตฯ แต่ยังไม่สามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์งวดสุดท้ายด้วยสกุลเงินอื่นได้ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีความเป็นได้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อรอให้มีกฎระเบียบที่แน่ชัดในการรับรองการโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารจากธนาคารเหมือนวิธีการเดิมอีกต่อไป"

Zipmex คือแพลตฟอร์มการชำระเงินด้วยเหรียญคริปโตฯ โดยบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้น 50 เท่า และรายได้เพิ่มขึ้น 250 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีธุรกรรมมูลค่า 3,800 ล้านบาทในช่วงสงกรานต์

 

โลกเปลี่ยน! เจาะกลุ่มนักศึกษา เปิด 'เช่าคอนโด' ด้วย Crypto

นายศักดิ์สิทธิ์ เลิศไฝ่คุณธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนโดไทย จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า Condothai เป็น แพลตฟอร์มเอเยนท์ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถสร้างรายได้ผ่านการแนะนำลูกค้ามาเลือกซื้อหรือเช่ากับ Condothai ก็จะมีรายได้จากค่าแนะนำ โดยทางบริษัทได้พัฒนาช่องทางการชำระเงินเพิ่มเติม จากเดิมสามารถชำระด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิตเท่านั้นเพื่อให้สามารถรับชำระเงินโดยเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าในแง่ของการชำระเงิน เป็นการตอบโจทย์กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทฯ และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตฯ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ที่เป็นการปรับตัวสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี

"รูปแบบของเราจะไม่เหมือนกับค่ายบริษัทอสังหาฯ รายอื่นที่เป็นการขายที่อยู่อาศัย เราจะโฟกัสกลุ่มตลาดเช่า ตอนนี้ 1-2 เดือนข้างหน้า อีเวนต์ที่จะเกิดขึ้นใหญ่ของประเทศไทย คือ การเปิดภาคเรียน (รอบของมหาวิทยาลัย) เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นเวลาทองของนักศึกษาที่จะเช่าอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องโควิด-19 แต่การเปิดเทอมไม่มีการเลื่อนออกไป ตลาดเช่าคอนโดฯ ยังไปได้ และไปได้ดี ซึ่งจากการประกาศที่จะมีบริการดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลูกค้าโทร.เข้ามาสอบถาม 20 ราย โดยเฉพาะกลุ่มเจน C ให้ความสนใจ และเป็นกลุ่มที่ติดตามและเข้าถึงแพลตฟอร์มเงินสกุลดิจิทัลค่อนข้างมาก จะมีทั้งที่ศึกษาอยู่ และจบออกมาใหม่ เด็กรุ่นใหม่กล้าลงทุนและไม่ต้องใช้เงินเยอะ อยู่ที่ไหนก็ทำได้"

ทั้งนี้ การรับและบริหารคริปโตฯ จะเป็นหน้าที่ของ Condothai ซึ่งเจ้าของห้องจะไม่ได้รับรู้เรื่องของธุรกรรมดังกล่าว เช่น นักศึกษารายหนึ่งอยากจะเช่าและจ่ายเงินเป็นคริปโตฯ ทางเราก็รับในส่วนนี้ และบริหารจัดการภายใน นำเงิน (สภาพคล่อง) ของเราจ่ายให้แก่เจ้าของห้องตามที่ตกลงกันไว้ เจ้าของห้องไม่มีความเสี่ยง โดยที่ทาง Condothai จะแบกรับความเสี่ยงแทน

สำหรับวิธีการเช่าคอนโด และการซื้อขายคอนโดในแพลตฟอร์ม Condothai ด้วยการชำระเงินผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี 5 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ 

1. เลือกห้องที่ใช่ สไตล์ที่ชอบ 

2. นัดหมายเพื่อชมห้อง และต่อรองราคา 

3. ชำระเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 

4. แลกเปลี่ยนเป็นเงินสด 

5. ทำสัญญาพร้อมเข้าอยู่

 

วอนรัฐชัดเจน กม. "ทำกำไร" จากคริปโตฯ

เผยค่าพรีเมียมสวอปเงิน 5%

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวให้มุมมองต่อการเติบโตของธุรกรรมด้านเงินสกุลดิจิทัลในไทยว่า ขยายตัวมากขึ้น ข้อดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการจ่ายเงิน โดยเรา Condothai จะบริหารความเสี่ยง หากลูกค้าหรือนักศึกษาจะใช้เงินคริปโตฯ ซื้อหรือเช่าสินค้า จะให้เวลาผู้ถือตัดสินใจเวลาประมาณ 10 นาที และเมื่อลูกค้าโอนคริปโตฯ หรือเหรียญมาแล้ว ทางเราจะรีบแปลงเป็นเงินสกุลดอลลาร์และนำเงินบาทเข้าประเทศไทยทันที ค่าพรีเมียมจากการสวอปเงินประมาณร้อยละ 5 ส่วนเจ้าของห้องจะมีค่าภาษีจากรายได้ค่าเช่ารายเดือน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนประสบมายังไม่มีแม่บทกฎหมายชัดเจน แต่มีแม่บทจากการทำกำไรจากคริปโตฯ อันนี้ตัวกฎหมายมีระบุ ต้องจ่ายภาษี 15% แต่ยังไม่มีการระบุชัด ใครจะเป็นคนเก็บ ดังนั้น ทางบริษัทฯ จะแปลงเป็นเงินสดตอนไหน (บริหารกระเป๋าสตางค์ ) ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายในของ Condothai เราไม่จำเป็นต้องรีบแปลงเป็นเงินบาท เพราะเรามี Wallet (กระเป๋าเงินออนไลน์)

ทั้งนี้ หลายธุรกิจเริ่มตอบรับกับการใช้คริปโตฯ มากขึ้น เพราะในอนาคตอาจจะเปรียบเสมือนเป็นบัตรเครดิต ยอมรับเป็นเรื่องใหม่ในปัจจุบัน คนค่อนข้างกลัว และตัวบทกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนว่า "เราทำแบบไหน" และในการทำธุรกรรมทั่วไปจะมีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเรา (Condothai) จะต้องไปยื่นและนำส่งรายการภาษีแทนผู้ให้บริการการชำระเงิน

"คริปโตฯ เป็นเทรนด์ของโลก หลายๆประเทศก็มีตัวบทกฎหมายที่ชัดเจน ในฐานะผู้ประกอบการอยากทำอะไรให้ถูกต้อง แต่พอเป็นเรื่องใหม่ต้องให้เวลากับภาครัฐ แต่คาดว่าไม่กี่เดือนทุกอย่างปรับเข้าที่และลงตัว เพราะทางผู้ประกอบการ หรือฝ่ายบัญชี ต้องการความชัดเจนในการลงรายการให้ถูกต้อง หากกรณีเรามีกำไร และต้องยื่นส่งรายการ แต่ในกรณีที่เรายังไม่แลกเปลี่ยนเป็นเงินสด เราถือคริปโตฯ ไว้ เราต้องทำอย่างไร เพราะกำไรยังไม่เกิด ต่างกับหุ้น เราถือหุ้นยังไม่ขายก็ยังไม่ทำกำไร แต่คริปโตฯ เรายังไม่ขาย แล้วจะบันทึกรายการอย่างไร หรือจะให้ระบุเป็นสินทรัพย์ก็ได้ แต่ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน"

เว็บไซต์อ้างอิง : https://mgronline.com
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ