loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
พิษสงครามราคาเทสต๊อก-โควิด-19 ซ้ำ ฉุดกำไรอสังหาฯ Q3 ร่วง ฟื้นดีมานด์บ้านแนวราบหนุนยอดขาย
: 19 พฤศจิกายน 2563 | :

หลังสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายผ่านมาตรการคลายล็อกดาวน์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มเข้าสู่วงจรของการเดินหน้าทางธุรกิจอีกครั้ง หลังจากช่วงล็อกดาวน์ ธุรกิจต่างๆ หยุดกิจกรรมเกือบทั้งหมด รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่งการ "ระบายสต๊อก" อย่างหนัก โดยทุกแบรนด์ ต่างอัดโปรโมชันส่วนลด และของแถมจำนวนมากเพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยให้มากที่สุด เพื่อ "เสริมสภาพคล่อง" และรักษากระแสเงินสดให้สูง รองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากจะพบว่าในไตรมาสแรกของปี 63 ภาคอสังหาฯ เริ่มถูกกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ ที่อยู่ในตลาดหุ้นค่อนข้างมีตัวเลขของรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และกำไรสุทธิ ตกต่ำลง ติดลบค่อนข้างมาก

โดยผู้ประกอบการบางแบรนด์ เช่น บริษัทรายใหญ่ ช่วงก่อนจะเกิดโควิด-19 ได้มีการปรับแนวธุรกิจ เพิ่มน้ำหนักกับโปรดักต์แนวราบ เพื่อบริหารพอร์ตกับสินค้าโครงการคอนโดมิเนียมที่ถูกกระทบจากเรื่องของเศรษฐกิจ และกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ เช่น ลูกค้าหลักจากชาวจีน ที่แม้จะมีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในไทย แต่ยังติดเรื่องการจำกัดการนำเงินออกนอกประเทศ แต่ก็ยังพอมีตลาดของไต้หวัน และฮ่องกง ที่มาเติมกำลังซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมได้

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom : LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวประมาณการหน่วยเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า จะมีประมาณ 65,000-75,000 หน่วย (9 เดือนแรกมีหน่วยเปิดใหม่ 51,000 หน่วย) คาดมูลค่าการเปิดโครงการประมาณ 315,000-330,000 ล้านบาท ลดลง 25 ถึง 30% (9 เดือนมีมูลค่าอยู่ที่ 208,000 ล้านบาท)

สำหรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 36 บริษัท พบว่า รายได้รวมในไตรมาส 3 อยู่ที่ 80,394.02 ล้านบาท ลดลง 3.5% จากระยะเดียวกันของปี 62 กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ ยังสามารถทำได้มีตัวเลขอยู่ที่ 8,390.67 ล้านบาท ลดลง 4.13%

ความสามารถในการทำกำไร พบว่า บริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) (GLAND) มีความสามารถในการทำกำไรสูงสุด แต่บริษัทมีรายได้หลักจากธุรกิจให้เช่าและบริการ และมีรายการพิเศษจากการขายทรัพย์สินบางส่วน ขณะที่บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ทำธุรกิจหลัก คือ ขายที่อยู่อาศัย มีความสามารถในการทำกำไรสูงสุดที่ 28.46% และ 28.43% ตามลำดับ

ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ตัวเลขของ 36 อสังหาฯ รายได้อยู่ที่ 209,750.96 ล้านบาท ลดลงถึง 15.32% กำไรสุทธิ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,071 ล้านบาท ลดลง 40.87% เป็นผลมาจากการนำเอากลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการขายและโอนในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์สินค้าคงเหลือและต้นทุนการพัฒนาอสังหาฯ พบว่า ยังคงต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจากมีมูลค่ารวมสูงถึง 601,354.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.34% โดยบริษัทอสังหาฯ ที่มีสินค้าคงเหลือตั้งแต่ 30,000 ล้านบาทขึ้นไป จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ บริษัทพฤกษาฯ 71,221 ล้านบาท บริษัท แสนสิริฯ 63,302 ล้านบาท บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ 55,830 ล้านบาท บริษัทเอพีฯ 47,000 ล้านบาท บริษัทเอสซีฯ และบริษัทเฟเซอร์สฯ มีสินค้าคงเหลือกว่า 32,000 ล้านบาท

หั่นราคา-พิษโควิด-19 กระทบอัตราทำกำไร ลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงาน แม้ว่าบริษัทอสังหาฯ จะสามารถสร้างยอดขายได้ แต่ด้วยการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากการขายมีอัตรากำไรที่ลดลง แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ มีอัตราลดลง โดยใน 9 เดือนแรก อยู่ที่ 31.30% เทียบกับระยะเดียวกันที่ทำได้ 32.43% ลดลง 1.13% ซึ่งในงวดดังกล่าว บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 19,895.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,310 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลง +7.05%

บริษัทแสนสิริฯ แม้จะสามารถทำรายได้จากการขายอสังหาฯ ค่อนข้างสูงถึง 7,635 ล้านบาท แต่ต้นทุนโครงการเพื่อขายในไตรมาส 3 เท่ากับ 5,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% ส่งผลให้ต้นทุนโครงการเพื่อขายในงวด 9 เดือนเพิ่มขึ้นถึง 116% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 22.9% จาก 27.3% เป็นผลมาจากกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการขาย และการโอนกรรมสิทธิ์ของยูนิตที่สร้างเสร็จแล้ว เพื่อเป็นการเร่งระบายสินค้าคงเหลือในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Q3 รายใหญ่รายได้ขายอสังหาฯ ยังเติบโต
"เอพี" โชว์แกร่งต่อเนื่อง 2 ไตรมาส-ยอดโอนหนุน

ผลต่อเนื่องจากการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการในไตรมาส 2 การชะลอเปิดโครงการใหม่และยกเลิกการเปิดโครงการ คืนเงินให้แก่ลูกค้า ตัดขายที่ดินออกไป เพื่อเสริมสภาพคล่อง ขณะที่ในไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านไป ผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ หลายแบรนด์ปรับตัวค่อนข้างดี เนื่องจากการลดราคาขายลง บางโครงการสูงถึง 40% เพื่อเร่งปิดโครงการ ขณะเดียวกัน ได้ระดมบุคลากรภายในองค์กรร่วมกันเป็นทีมขายโครงการ การดึงบุคคลภายนอกและสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทน และปรับเปลี่ยนสิทธิ เช่น เดิมราคาส่วนลดเฉพาะพนักงาน ก็สามารถถ่ายโอนสิทธิให้บุคคลอื่นได้ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นและสร้างรายได้ให้แก่โครงการ ทั้งในส่วนของโครงการลงทุนเองและโครงการร่วมทุน (JV)

ทั้งนี้ จากการรวบรวมผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ ในไตรมาส 3 ที่ยังเติบโตของรายได้ ที่มีมูลค่าจากการขายอสังหาฯ ที่อยู่ในอันดับต้นๆ ได้แก่ บริษัท เอพีฯ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ บริษัท ศุภาลัยฯ บริษัทเอสซีฯ บริษัทโนเบิลฯ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ฯ บริษัทไรมอนแลนด์ฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เรียงบริษัทรายใหญ่จะเห็นภาพโดยรวมว่า ยังมีรายได้จากความสามารถของการขายที่ดี ทั้งเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัท เอพี (ไ_ๆทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่มีผลประกอบการดีต่อเนื่องมาจากไตรมาสที่ 2 และถือว่าในไตรมาสนี้ และงวด 9 เดือนผลงานออกมาดี

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพีฯ กล่าวว่า ทางรอดเดียวที่จะก้าวผ่านไป คือ การปรับตัวที่รวดเร็ว ภายใต้การบริหารจัดการกระแสเงินสดที่รัดกุม ส่งผลให้ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นบริษัทฯ ยังคงสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นในทุกไตรมาส โดย ณ 9 เดือนแรกของปี เอพีมีอัตราการเติบโตที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยสร้างรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100%JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 35,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% โดยเฉพาะในไตรมาส 3 นี้ ส่วนหนึ่งของยอดรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการทยอยโอนกรรมสิทธิ์โครงการคอนโดมิเนียม LIFE ลาดพร้าว LIFE อโศก-พระราม 9 และ ASPIRE อโศก-รัชดา

ด้านกำไรสุทธิรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 (Net Profit) สูงถึง 3,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% หากเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 2,180 ล้านบาท และสูงกว่ากำไรทั้งปีของปี 2562 (3,060 ล้านบาท) และมั่นใจ ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีจะสามารถสร้างรายได้รวมได้ตามเป้าหมาย 40,550 ล้านบาท

"ผมเชื่อว่าเราจะอยู่กับวิกฤตอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน อย่างยาวผมไม่รู้ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเรา แต่เป็นกันทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ พายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามา" นายอนุพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์อ้างอิง : https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000119294
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ