loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
ส่องโอกาส 3 'เมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้' โครงการไหนเกิดก่อน
: 21 ตุลาคม 2563 | :

รัฐบาลเดินหน้าศึกษา 3 เมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ ทั้งแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งอันดามันพร้อมสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร ส่วนคลองไทยมอบ สศช.ศึกษา ขณะที่โปรเจ็กต์ล่าสุดสะพานไทย 9 แสนล้านมอบ สนง.อีอีซีศึกษาจับตา "ไพรินทร์" ร่วมลงพื้นที่ครม.สัญจรใต้ถกข้อมูล

แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรและสรรพกำลังให้กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นของประเทศ อย่างไรก็ตามในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาวพบว่ามีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 3 โครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมให้เดินหน้าศึกษาและทั้ง 3 โครงการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคใต้ 

เมกะโปรเจ็กต์ 3 โครงการถ้าดูจากขนาดการลงทุนถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์ทั้งสิ้น ประกอบไปด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ (Feasibility Study) โครงการคลองไทย (คอคอดกระ) และโครงการสะพานไทย ซึ่งทั้ง 3 โครงการนายกรัฐมนตรีไฟเขียวให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ มีการจัดสรรงบประมาณในการศึกษาและมอบหมายหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการศึกษาโครงการเป็นที่เรีียบร้อย “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียดและระยะเวลาในการศึกษาทั้ง 3 โครงการดังนี้ 

1.โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โครงการนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณในการศึกษาและออกแบบให้กับกระทรวงคมนาคม วงเงินประมาณ 65 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษาและออกแบบโครงการประมาณ 1 ปี

ลักษณะโครงการนี้จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทั้งในฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดชุมพรและระนองระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันด้วยการสร้างเส้นทางขนส่งทางบก โดยมีทั้งรถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) ซึ่งจะทำให้เรือสินค้าที่ใช้เส้นทางปกติ หันมาขนส่งเส้นทางนี้แทนเนื่องจากย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 2 วัน คาดว่าจะส่งผลในทางด้านเศรษฐกิจมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวนมาก

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วนต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

“ยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการนี้ คือการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค คือการเชื่อมตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมัน ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ไปสู่เอเซียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฯลฯ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้บริโภคน้ำมันและโรงงานโลก โดยผ่านไทย โดยโครงการนี้มีแผนที่จะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งนายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้แนวทางการร่วมลงทุนว่า ภาคเอกชนที่สนใจต้องร่วมลงทุนทั้ง ท่าเรือน้ำลึก รถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์” 

160286237763

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ภาคใต้ สศช.ได้มีการศึกษาโครงการนี้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆมาหลายครั้ง โดยในแผนใหม่ที่มีการนำเสนอเป็นโครงการแลนด์บริดจ์บริเวณ จ.ชุมพร - จ.ระนอง เน้นเรื่องของการขนส่งและโลจิสติกส์มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในโครงการจะอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่ในพื้นที่คือท่าเรือจ.ระนอง แล้วสร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่จ.ชุมพร แล้วเชื่อมท่าเรือทั้งสองแห่งเข้าด้วยกันด้วยรถไฟทางคู่

ทั้งนี้ท่าเรือที่มีอยู่ที่จ.ระนองนั้นพอที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ได้ แต่ข้อจำกัดที่มีคือเรื่องของพื้นที่หลังท่าซึ่งไม่กว้างนัก ส่วนในเรื่องของร่องน้ำหากจะรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ก็อาจจะต้องมีการขุดร่องน้ำใหม่ให้เรือขนาดใหญ่เข้าได้ หรือจะมีรูปแบบอื่นๆในการรับสินค้าจากเรือเข้ามาที่ท่าเรือ ขณะเดียวกันก็พยายามดูแผนเรื่องของการพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย 

“โครงการแลนด์บริดจ์ จะเกิดได้หรือไม่เรื่องของต้นทุนในการขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมีท่าเรือรองรับ 2 ด้าน ทั้งในด้านอันดามันและอ่าวไทยทำให้การขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา ก็จะประหยัดเวลาไป 2-3 วัน เรือที่จะผ่านเขาก็ต้องดูว่าต้นทุนแบบไหนเขาประหยัดกว่า ส่วนโครงการที่พัฒนาจะมีอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ต้องรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยโครงการที่สศช.เสนอไปในแผนเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ไม่ได้เน้นในเรื่องอุตสาหกรรมแบบอีอีซีแต่เน้นในเรื่องของโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ”

2.โครงการคลองไทย หรือโครงการขุดคอคอดกระ  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการเสนอให้มีการศึกษาโครงการ และก่อสร้างมาหลายครั้ง รวมทั้งมีเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านโครงการจากหลายฝ่าย โดยโครงการนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ สศช.ลงไปศึกษาโครงการนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากเป็นโครงการคลองไทยซึ่งเป็นข้อเสนอจากพื้นที่ผ่านมายังกรรมาธิการศึกษาในสภาฯ แต่ในปี 2563 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2564 สศช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ประมาณ 11 ล้านบาท ให้ลงไปศึกษาโครงการกำหนดระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี 

ทั้งนี้ขอบเขตของการศึกษาเน้นที่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะเส้นทางของคลองไทย 9 เอ จะผ่านจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรังและกระบี่ มีระยะทาง 135 กิโลเมตร คาดว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร

การประเมินความเป็นไปได้ของโครงการในเบื้องต้นโดยจะจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลประเมินว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้ยากไม่ว่าจะพิจารณาด้วยเหตุผลด้านใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านงบประมาณที่จะต้องใช้การลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท เหตุผลทางวิศวกรรมที่การเดินเรือข้ามระหว่าง 2 ฝั่งมหาสมุทรในระยทางยาวกว่า 135 กิโลเมตร ทำได้ยากมากในทางปฏิบัติ และเหตุผลด้านความมั่นคง โดยผลการศึกษาที่ สศช.ได้จากพื้นที่จะช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับโครงการนี้มีความชัดเจนมากขึ้น 

160286228475

และ 3.โครงการสะพานไทย โครงการน้องใหม่ล่าสุดตามข้อเสนอของ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจและประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ“ศบศ.” ที่เสนอโครงการนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รับไปศึกษา

โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยเป็นโครงที่จะเชื่อมพื้นที่อีอีซีในภาคตะวันออกกับอีกด้านของอ่าวไทย เป็นสะพานขนาดความยาว 80 - 100 กิโลเมตร จากชลบุรีมายังเพชรบุรีหรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เส้นทางที่ปกติต้องอ้อมไกลถึงเกือบ 400 กิโลเมตรลดลงเหลือ 1 ใน 3 หากทำทางเชื่อมได้ความเจริญจากภาคตะวันออกจะมาเชื่อมกับภาคตะวันตก 

ที่สำคัญเป็นโครงการที่จะช่วยนำความเจริญจากฝั่งตะวันออกลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนายไพรินทร์บอกว่านี่เป็นวิธีิที่หลายประเทศเช่นญี่ปุ่นทำแล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว เพราะวิธีการแบบนี้เมื่อมีถนนที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยฝั่งตะวันออกและตะวันตกความเจริญที่กระจุกตัวอยู่เพราะมีความเจริญ สิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่มาก จะถ่ายโอนไปยังฝั่งตะวันตกได้

สนามบินอู่ตะเภาที่สร้างในพื้นที่อีอีซีฝั่งตะวันตกก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาลงที่อู่ตะเภาก็เดินทางข้ามฝั่งไปยังฝั่งตะวันตกได้ หรือหากภาคใต้ต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมก็แก้ปัญหาโดยใช้วิธีเอาไฟฟ้าจากภาคตะวันออกโดยฝากสายส่งไปกับสะพานไทยเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าจากฝั่งตะวันออกที่มีโรงไฟฟ้าจำนวนมากได้ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าได้ด้วย

นอกจากเศรษฐกิจหากมองในทางการเมืองโครงการขนาดใหญ่ถือเป็นกลยุทธ์ในการดึงคะแนนเสียง เป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากนโยบายประกันรายได้ ประกันราคาพืชเกษตร ยาง ปาล์มในพื้นที่ภาคใต้

เชื่อว่าในการประชุม ครม.สัญจร จ.ภูเก็ต และการลงพื้นที่เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้วันที่ 2 - 3 พ.ย.นี้โครงการเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการพูดคุย โดยเฉพาะในการลงพื้นที่ครั้งนี้คีย์เมน ศบศ.อย่างไพรินทร์ จะลงพื้นที่ด้วย โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆอาจเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นหลังการประชุม ครม.สัญจรในครั้งที่จะถึงนี้ 

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903056
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ