loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
“ภาษีที่ดิน” ป่วนรายได้ กทม. วูบ 1.5 หมื่นล้าน ปีหน้าลุ้นเก็บเต็มอัตรา
: 5 ตุลาคม 2563 | :

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ในปี 2563 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” รายได้ภาษีวูบหนักกันถ้วนหน้า

ผลพวงจากแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเลื่อน-ลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลประกาศลดให้ 90% ยิ่งทำให้รายได้หายไปจากสารบบมหาศาล แถมแนวทางปฏิบัติยังคงอลหม่าน

ในส่วนของ “กทม.” พื้นที่เศรษฐกิจ-การค้าของประเทศ แหล่งข่าวจากสำนักการคลัง กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของ กทม.ในปี 2563 ไม่เป็นไปตามเป้า 83,000 ล้านบาท ต้องปรับลดเป้าการจัดเก็บลง 15,000 ล้านบาท เหลือ 68,000 ล้านบาท หรือลดลง 18.07% ปัจจุบันมีรายได้ 61,000 ล้านบาท และรายจ่าย 46,161 ล้านบาท

โดยรายได้ภาษีอื่น ๆ มีปรับเป้าค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตปรับและค่าบริการจาก 2,250 ล้านบาท เหลือ 1,250 ล้านบาท เพราะเลื่อนเก็บค่าขนและจัดเก็บมูลฝอยที่ปรับอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ออกไปเป็นปี 2564

“แต่ลดลงมากรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะเป็นปีแรกที่เก็บ หลังเลื่อนเก็บจากเดิม เม.ย.เป็น ส.ค. ได้ปรับจากเป้าเดิม 14,000 ล้านบาท เหลือ 5,000 ล้านบาท ล่าสุดหลังรัฐปรับลดอัตราภาษี 90% ทำให้รายได้ลดลงไปด้วย ผลจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1,067 ล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท ถึงวันที่ 31 ต.ค.ตามที่ขยายเวลาให้ยื่นภาษี จะเก็บได้ 1,200 ล้านบาท”

ทั้งนี้ในปี 2563 จากการเก็บข้อมูลบัญชีผู้เสียภาษี มีบ้านที่อยู่อาศัยเกือบ 3 ล้านหลัง ที่ดิน 2.8 ล้านโฉนด และคอนโดมิเนียมประมาณ 1 ล้านยูนิต แต่พบปัญหาหลังส่งไปรษณีย์แจ้งให้มาเสียภาษี ปรากฏว่ามีตีกลับอยู่พอสมควร ซึ่งในบางเขตพื้นที่ในเมืองตีกลับมากถึง 500-600 ราย

“ตีกลับเพราะไม่มีผู้รับ เราส่งไปตามที่อยู่ภูมิลำเนาที่แจ้ง แต่มีลูกบ้านเก่าที่ฝ่ายบังคับภาษีแต่ละเขตเคาะประตูให้เซ็นรับใบแจ้งเสียภาษีเอง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากการที่รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้ กทม.ต้องปรับลดงบประมาณภาพรวม ทุกหมวดรายจ่ายของทุกหน่วยงานลง 10% โดยปรับลดได้ 13,540 ล้านบาท ปรับลดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุลงอีก 10% แต่ไม่ให้กระทบต่อเงินเดือนด้านบุคลากรที่ปี 2563 จำนวน 29,511 ล้านบาท

ขณะเดียวกันรายได้จากส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้จะลดลงจากเป้า 62,500 ล้านบาท อยู่ที่ 57,500 ล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพากรจะมีการปรับลดเป้าการจัดเก็บ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากนี้ยังปรับเป้างบประมาณปี 2564 และปี 2565 ใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยงบประมาณปี 2564 เดิมตั้งไว้ 85,000 ล้านบาท ปรับเป็น 75,500 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ กทม.จัดเก็บเอง 12,000 ล้านบาท ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,500 ล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม

“แต่ในกรณีนี้ยังคงสัดส่วนงบฯด้านลงทุนโครงการใหม่ไว้เท่าเดิม 15% หรืออยู่ที่ 11,400 ล้านบาท ให้ความสำคัญโครงการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองเป็นพิเศษ ต้องรอดูนโยบายรัฐว่าจะลดอัตราภาษีที่ดินเหมือนปีนี้หรือไม่ ถ้าลดอีกจะทำให้รายได้ กทม.ลดลงอีก ปีหน้า

ตั้งเป้าจะเก็บภาษีที่ดินฯได้ 7,000-8,000 ล้านบาท เพราะกรมธนารักษ์จะมีการปรับราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ในเดือน พ.ย.นี้ ต้องส่งใบแจ้งภาษีรอบใหม่ให้ผู้ที่จะต้องเสียภาษีแต่ละประเภทและเริ่มเสีย มี.ค.-เม.ย.”

ส่วนงบประมาณปี 2565 ตั้งเป้าไว้ 78,000 ล้านบาท เนื่องจากสำนักการคลัง กทม. คาดการณ์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีงบฯสำหรับงานด้านลงทุนใหม่ประมาณ 11,700 ล้านบาท ขณะที่เงินเดือนบุคลากรอยู่ที่ 29,040 ล้านบาท

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.prachachat.net/property/news-517200
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ