
“แอร์พอร์ตลิงก์”วิ่งรถเสริมเร่งด่วนเช้า,เย็น 24 ขบวน รับยกเลิก”เคอร์ฟิว” รองรับผู้โดยสารเพิ่มกว่า 3.3 หมื่นคน/วัน ด้าน รฟม. เผยMRT เพิ่มกว่า 2.3 แสนคน ลุ้นถกกรมรางฯ ผ่อนเว้นระยะ ลดแออัด
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท
รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ได้กลับมาให้บริการตามเวลาปกติ 05.30-24.00 น. หลังประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว และการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 4 ดังนั้น เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า และเย็น จึงเพิ่มขบวนรถเสริม เป็น24 เที่ยว/วัน โดยทั้งวันจะมีขบวนรถให้บริการ กว่า 220 เที่ยว และได้บริหารการเดินรถโดยช่วงเช้าเพิ่มความถี่ขาเข้าเมือง และปรับเพิ่มถี่ขาออกเมืองในช่วงเย็น เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการจริง
โดยล่าสุด จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากสัปดาห์ที่แล้วมีผู้โดยสารเฉลี่ย 31,000 คน/วัน คาดว่า สัปดาห์นี้จะเพิ่มเป็น 33,000 คน/วัน ขณะที่ ในระบบรถไฟฟ้า ยังคงใช้มาตรการ รักษาระยะห่าง( Social Distancing ) ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง ซึ่งจากการเพิ่มขบวนรถเสริมทำให้ภาพรวมในช่วงเช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง หรือต้องจำกัดจำกัดปริมาณผู้โดยสารที่จะขึ้นสู่ชั้นชานชาลา และภายในขบวนรถไฟฟ้า (Group Release)
ทั้งนี้ ตามปกติ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้745 คน/ขบวน ซึ่งมาตรการเว้นระยะห่าง จำกัด นั่งแบบ ที่เว้นที่ และยืนเว้นระยะห่าง ทำให้รองรับลดลงเหลือไม่เกิน180 คน/ขบวน โดยวันที่ 17 มิ.ย. นี้ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง จะประชุมร่วมกับผู้ให้บริการระบบรางเพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะ ซึ่งหากปรับเป็น นั่ง2 เว้น1 จะเพิ่มความจุเป็น 400-500 คน/ขบวน จะทำให้ ลดความแออัดได้อีกระดับหนึ่ง
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเฉลี่ยกว่า 231,011 คน/วัน โดยสายสีน้ำเงิน เฉลี่ย210,000 คน สายสีม่วง 38,000 คน /วัน ซึ่งยังลดลงจากปกติ 60% ส่วนมาตรการเว้นระยะห่างนั้น ทำให้ขีดรองรับผู้โดยสารของรถ1ขบวน เหลือ 25% หรือประมาณ 200-250 8O/ขบวน จากปกติ รับได้ 800-1,000 คน/ขบวน ซึ่งหากผ่อนคลายการเว้นระยะจะเพิ่มความจุได้เป็น 500 คน/ขบวน
อย่างไรก็ตามคาดว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าMRT ที่ลดลง จากสถานการณ์โควิด นั้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงเพิ่มขึ้นกลับไปเท่าจำนวนก่อนจะเกิดโรคโควิด อีกทั้งยังมีหลายปัจจัยที่ยังทำให้การเดินทางไม่เป็นปกติ เช่น นักท่องเที่ยว ยังไม่กลับมา ,ประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความกังวล ติดเชื้อ และไม่เดินทางด้วยระบบสาธารณะที่มีความแออัด ประเมินปลายปีนี้ จำนวนผู้โดยสารจะอยู่เพิ่มมาอยู่ในระดับ 60% และปีหน้าจึงจะเพิ่มกลับไปที่ระดับเดิม สีม่วงกว่า 60,000 คน/วัน สีน้ำเงินกว่า 400,000 คน/วัน